ค้นหาสินค้า

ว่านลูกไก่ทอง, Golden Moss


โดย รุ่งอรุณไม้ประดับ

ว่านลูกไก่ทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cibotium barometz    
สมุนไพรว่านลูกไก่ทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านไก่น้อย (ทั่วไป), แตดลิง (ตราด), ขนไก่น้อย (เลย), หัสแดง (นครราชสีมา), นิลโพสี (สงขลา, ยะลา), กูดเสือ โพลี (ปัตตานี), กูดผีป่า กูดพาน ละอองไฟฟ้า เฟินลูกไก่ทอง เฟิร์นลูกไก่ทอง (ภาคเหนือ), หัสแดง (ภาคใต้), เกาแช กิมซีม้อ กิมม๊อเกาจิก (จีนแต้จิ๋ว), จินเหมาโก่วจี๋ (จีนกลาง) เป็นต้น    
   
ต้นว่านลูกไก่ทอง จัดเป็นพรรณไม้จำพวกเฟิร์น ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 2.5-3 เมตร เหง้ามีเนื้อแข็งคล้ายไม้ ปกคลุมไปด้วยขนนิ่มยาวสีเหลืองทองวาว เหมือนขนอ่อนของลูกไก่ มีใบจำนวนมากออกมารอบ ๆ เหง้า ลักษณะคล้ายมุงกุฎ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อ ชอบดินเปรี้ยว ความชื้นสูง ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดรำไร มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศจีน อินเดีย และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมักพบขึ้นเองตามหุบเขา เชิงเขา และตามที่ชื้นแฉะ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,500    
   
สรรพคุณของว่านลูกไก่ทอง    
1.ตำรับยาบำรุงกำลังและกระดูก ระบุให้ใช้เหง้าแห้งของว่านลูกไก่ทอง, โกฐเชียง, รากหง่วงจี้เน็ก และโป่งรากสนเอาเปลือกออก อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้ง แล้วทำเป็นยาเม็ด ใช้กินกับเหล้าครั้งละประมาณ 50 เม็ด (เหง้า)    
2.เหง้ามีสรรพคุณเป็นยาระบายและช่วยในย่อย เหมาะสำหรับเป็นยาของผู้สูงอายุ (เหง้า)    
3.เหง้าใช้เป็นยาขับพยาธิ (เหง้า)    
4.ตำรับยาแก้แก้ปัสสาวะมาก ระบุให้ใช้เหง้าแห้งของว่านลูกไก่ทอง, ลูกบักกวย, เปลือกต้นโต่วต๋ง และเปลือกรากโงวเกียพ้วย อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เหง้า)    
5.แก้ปัสสาวะไม่รู้ตัวหรือช้ำรั่ว ปัสสาวะกะปริบกะปรอยเป็นสีเหลือง สำหรับผู้สูงอายุที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ให้ใช้เหง้าแห้ง 15 กรัม, ราพังทึ้งก้วง 15 กรัม, รากเชียวจั้ง 15 กรัม, และใบไต่แม้กวยมึ้ง 15 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูกิน (เหง้า)    
6.ส่วนสตรีที่มีอาการตกขาวมากผิดปกติ ให้ใช้เหง้าที่เอาขนออกแล้ว, เต็งย้ง (เขากวางอ่อนนึ่งด้วยน้ำส้ม แล้วเผา), แปะเกี่ยมสด นำมาบดให้เป็นผง ใช้ต้นหนาดใหญ่ต้มกับน้ำส้มสายชูผสมข้าวเหนียว นำไปต้มแล้วบดให้เหนียว ผสมทำเป็นยาเม็ด ใช้กินตอนท้องว่างครั้งละประมาณ 50 เม็ด (เหง้า)    
7.ใช้รักษาอาการน้ำกามเคลื่อน (เหง้า)    
8.ช่วยทำให้มีบุตรง่ายขึ้น (เหง้า)    
9.ใช้เป็นยาบำรุงตับและไต (เหง้า)    
10.ใช้รักษาบาดแผลสด แผลจากปลิงดูด สุนัขกัด ถูกของมีคมบาดทุกชนิด เหยียบตะปู ช่วยห้ามเลือดจากแผลสด ทำให้เลือดแข็ง หรือใช้หลังการถอนฟัน ด้วยการใช้ขนจากเหง้าที่ตากแห้ง นำมาบดให้เป็นผงใช้โรยลงบนบาดแผล (ผงที่บดจากขนจะมีฤทธิ์ห้ามเลือดได้ดีที่สุด) (ขนจากเหง้า)    
11.เหง้ามีรสขม ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและไต ใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับกระดูก รักษาอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดตามข้อ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รักษาแขนขาอ่อนไม่มีแรง ทำให้หลังและขาที่อ่อนเพลียแข็งแรง แก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากลมชื้น แก้อัมพฤกษ์ แก้เหน็บชา (เหง้า)    
12.ใช้รักษาขาบวม หลังจากฟื้นไข้ ด้วยการนำเหง้ามาต้มเอาน้ำใช้ชะล้าง แล้วให้กินอาหารอ่อน ๆ ครั้งละน้อย ๆ เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารทำงานหนักเกินไป (เหง้า)    
13.ตำรับยารักษาอาการปวดขา ปวดเอว ระบุให้ใช้เหง้าแห้งประมาณ 60 กรัม และเมล็ดฝอยทอง 30 กรัม นำมาดองกับเหล้าไว้ 3 วัน แล้วนำไปตากให้แห้ง นำมารวมกันบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งทำเป็นยาเม็ด (ขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียว) ใช้กินตอนท้องว่างก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละประมาณ 30 เม็ด ส่วนตำรับยารักษาอาการปวดเอวอีกตำรับ ระบุให้ใช้เหง้าแห้ง, ลูกบักกวย, เปลือกต้นโต่วต๋ง และเปลือกรากโงวเกียพ้วย อย่างละ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เหง้า)    
14.ตำรับยาแก้ปวดน่อง ปวดเอว อัมพฤกษ์ ระบุให้ใช้เหง้า 15 กรัม, ไหฮวงติ้ง 12 กรัม, มะละกอจีน 12 กรัม, หงู่ฉิก 10 กรัม, กิ่งหม่อน 10 กรัม, สกต๋วง 10 กรัม, โต่วต๋ง 10 กรัม, ฉิ่งเกา 10 กรัม และกิ่งอบเชยอีก 6 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำหรือดองกับเหล้ากินเป็นยา (เหง้า)    
15.ตำรับยารักษาอาการปวดข้อ ปวดตามกล้ามเนื้อ โรครูมาติสซั่ม แขนและขาไม่มีแรง ระบุให้ใช้เหง้าแห้ง, ต้นและรากนังด้งล้าง, รากอบเชยญวน, รากพันงู, รากซกต๋วง, เปลือกต้นโต่วต๋ง, และใบพวงแก้วมณี นำมาแช่กับเหล้าใช้กินเป็นยา (เหง้า)    
   
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม <2> ให้ใช้เหง้าครั้งละ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนขนให้นำมาบดเป็นผง ใช้โรยบนบาดแผลภายนอกตามต้องการ    
   
ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด ปากขม ลิ้นแห้ง ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้    
   
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของว่านลูกไก่ทอง    
•ในเหง้าว่านลูกไก่ทอง จะประกอบไปด้วยแป้งประมาณ 30% มีสารจำพวกแทนนิน และยังพบสารที่สกัดตากแมทธิวแอลกอฮอล์ คือ Kaempferol    
•จากการทดลองกับสุนัขและกระต่ายทดลอง พบว่า ขนจากเหง้าที่นำมาบดให้เป็นผง มีฤทธิ์ห้ามเลือดในแผลสด บาดแผลของเนื้อเยื่อ แผลเป็น และบาดแผลของตับและม้าม เพราะมีผลทางกายภาพ ทำให้เกิดเม็ดเลือดเร็วขึ้น ส่วนผงที่บดจากขนจะมีฤทธิ์ห้ามเลือดได้ดีที่สุด มีฤทธิ์คล้ายกับปฏิกิริยาที่เกิดกับ Gelatin และ ฟองน้ำ จึงนิยมใช้ผงล้วน ๆ มาโรยลงบนบาดแผล และเมื่อปล่อยทิ้งไว้ เนื้อเยื่อก็จะค่อย ๆ ดูดซึมผงจนหมดในที่สุด    
   
ประโยชน์ของว่านลูกไก่ทอง    
1.ในบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงที่เกิดโรคติดต่อ เช่น สุนัข หมู วัว ควาย ฯลฯ ให้นำขนของว่านชนิดนี้ไปแช่กับน้ำให้สัตว์ที่ป่วยกิน จะทำให้สัตว์หายป่วย    
2.ใบแก่สามารถนำมาใช้ฟอกย้อมสีได้    
3.นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป มีขนสีทองมองเห็นเด่นชัด ดูสวยงามแปลกตา    
4.ในด้านของความเชื่อนั้นถือว่าว่านลูกไก่ทองเป็นว่านมหามงคล จัดเป็นว่านกายสิทธิ์ชนิดหนึ่งที่ควรมีไว้ติดบ้าน เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านการช่วยป้องกันภัยต่าง ๆ อีกทั้งยังถือเป็นว่านเสี่ยงทายอีกด้วย ถ้าหากต้นว่านลูกไก่ทองเจริญเติบโตขึ้นและได้ยินเสียงไก่ร้องในตอนกลางคืนดึกสงัด (เสียงร้อง “จิ๊บ ๆ” บางตำราว่าร้อง “กุ๊ก ๆ”) ก็สามารถทำนายทายทักโชคชะตาของผู้ปลูกและครอบครัวได้ว่าจะมีโชคลาคมหาศาล จะนำพาโชคลาภเงินทองมาให้ในไม่ช้า แต่ก็มีข้อควรระวังว่าหากปลูกไว้ในบ้านหรือหน้าบ้าน ห้ามเดินข้าม ห้ามปัสสาวะรด และห้ามล้างมือใส่ เพราะจะทำให้ว่านเสื่อมไม่เป็นมงคลอีกต่อไป    
   

คำสำคัญ: ว่านลูกไก่ทอง Golden Flower