ค้นหาสินค้า

การปลูกเบญจมาศ

การเตรียมแปลง    
ไถดินด้วยรถไถผาล 3 จำนวน 2 ครั้ง ตากดินไว้ประมาณ 10 วัน แล้วไถด้วยรถไถผาล 7 ใส่ขี้หมู 1 ถุงปุ๋ย ต่อ 1 แปลง พร้อมกับหว่านโดโลไมท์เพื่อปรับสภาพดิน หลังจากนั้นจะใช้รถโรตารี่ไถพรวนอีกครั้งเพื่อคลุกเคล้าให้เข้ากัน    
   
ใช้ รถทำร่องสูงขึ้นมา 50 เซนติเมตร โดยภายในโรงเรือน (โครง) จะมี 2 แปลง กว้าง 1 เมตร ยาว 20 เมตร ความห่างระหว่างแปลง 50 เซนติเมตร หว่านแกลบบนแปลง เกลี่ยให้เสมอ หลังวางตาข่ายแล้วให้หว่านปุ๋ย สูตร 15-15-15 จำนวน 1 กิโลกรัมต่อโครง ควรปรับสภาพดินความเป็นกรด-ด่าง อยู่ระหว่าง ค่าพีเอช 6.5    
   
การขึ้นโครงเหล็กหลังคาพลาสติค    
การผลิตเบญจมาศ จะปลูกภายใต้โครงเหล็กหลังคาพลาสติค โครงละ 2 แปลง เบญจมาศปลูกได้ดีในที่อุณหภูมิตั้งแต่ 15-30 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความชื้นจากฝน ความชื้นในฤดูฝนจะทำให้เกิดโรคได้ง่าย ส่วนในระยะออกดอกจะทำให้เน่าเสียได้ง่าย นอกจากนี้ ยังต้องพรางแสงในระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่เริ่มปลูก พลาสติคที่ใช้คลุมมีความหนา 150 ไมครอน กันแสง ยูวี ได้ 7% ส่วนซาแรนที่ใช้พรางแสง จะใช้ชนิด 50%    
   
วิธีการปลูก    
1. การปลูกแบบเด็ดยอด โดยเกษตรกรจะเด็ดยอดต้นอ่อน หลังจากที่ต้นกล้าตั้งตัวได้แล้ว ยอดจะแตกต้นอีกหลายยอด ทำให้ประหยัดท่อนพันธุ์ ระยะปลูกใช้ 25x20 เซนติเมตร    
   
2. การปลูกแบบไม่เด็ดยอด หรือแบบต้นเดียว จะใช้ระยะปลูกที่ถี่กว่าการปลูกแบบเด็ดยอด จึงมีการลงทุนต้นพันธุ์ที่สูงกว่า เพราะใช้ต้นพันธุ์มากกว่า แต่การปลูกแบบนี้จะมีช่วงเวลาการเติบโตสั้นกว่าและคุณภาพของดอกจะดีกว่า ปัจจุบันเกษตรกรนิยมปลูกด้วยวิธีนี้ โดยจะใช้ระยะปลูก 12.5x12.5 เซนติเมตร มีจำนวนต้น 1,250 ต้น ต่อแปลง หรือ 2,500 ต้น ต่อโครง อัตราการรอด 96% จะได้จำนวนต้นที่ให้ดอกประมาณ 2,400 ต้น การปลูกวิธีนี้ใช้การขึงตาข่ายเพื่อค้ำยันต้นบนแปลงให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงนำยอดพันธุ์มาปลูก ช่องละ 1 ต้น แล้วรดน้ำทันที    
   
ปุ๋ยและยาที่ใช้    
การให้ปุ๋ยในระยะแรกเริ่มปลูก เป็นปุ๋ยยูเรีย โครงละ 1 กิโลกรัม เมื่อครบ 15 วัน จะเปลี่ยนเป็นปุ๋ย 15-0-0 ครึ่งกิโลกรัม ต่อโครง เมื่อครบ 1 เดือน ให้ปุ๋ย 8-24-24 ครึ่งกิโลกรัม ครบ 2 เดือน จะใช้ปุ๋ย 15-15-15 จนเห็นตุ่มดอกแล้วจะเปลี่ยนเป็นปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ สูตร 0-0-60 เพื่อเร่งสี เร่งดอก    
   
การใช้ยากันราในหน้าหนาวเพื่อป้องกันราสนิมขาว ให้หมั่นสังเกตตอนรดน้ำว่ามีราหรือไม่ โดยสังเกตใต้ใบจะเป็นจุดสีขาว ซึ่งจะต้องฉีดยากันราทันที ส่วนยาฆ่าแมลงใช้ทุก 10 วัน    
   
การ ให้แสง    
   
ช่วงที่เริ่มปลูกเกษตรกรจะให้แสงสว่างเพิ่มอีกวันละ 4 ชั่วโมง มักจะนิยมให้ตั้งแต่ 3 ทุ่ม จนถึงเวลาตีหนึ่ง โดยใช้ทามเมอร์ เปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ เริ่มตั้งแต่วันปลูกจนถึง 30-45 วัน แล้วแต่สายพันธุ์    
   
การรดน้ำเบญจมาศ น้ำที่ใช้รดเบญจมาศจากแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยจะต้องรดน้ำทุกวัน เพื่อให้ดินชุ่ม แต่ไม่แฉะ เวลาที่รดน้ำจะใช้เวลาช่วงเช้ามืด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ใบเปียกช่วงกลางคืน เป็นการป้องกันการระบาดของเชื้อรา โดยจะใช้แรงงานคน ใช้สายยางติดฝักบัวเดินรดตามแปลง

คำสำคัญ: