ค้นหาสินค้า

ลักษณะพฤกษศาสตร์ของกำยาน

ชื่อวิทยาศาสตร์:    Styrax benzoides
ชื่อวงศ์:    STYRACACEAE  
ชื่อพื้นเมือง:    เขว้า, ซาดสมิง, เซพอบอ, เส้พ่อบอ, สะด่าน
ลักษณะทั่วไป:
    ต้น    ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร ลำต้นเปลา เรือนยอดโปร่ง เปลือกสีเทา ผิวเรียบ กิ่งอ่อนมีขนนุ่ม ตามกิ่งบริเวณซอกใบมักพบต่อม มีลักษณะเป็นถุงยาวคล้ายดาบ โคนเชื่อมกัน มีจำนวน 6-12 อัน ขนนุ่มสีน้ำตาลแดง ขนาดกว้าง 1-2 มม. ยาว 3-6 ซม.
    ใบ    ใบเดี่ยว รูปไข่กว้าง ขนาดกว้าง 3-4.5 ซม. ยาว 8-12 ซม. โคนใบมนและเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลม เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบสีอ่อนออกขาว มีขนประปราย ขอบใบเรียบ หรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบมี 6-8 คู่ เส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได เห็นชัดทางท้องใบ ใบแห้งออกสีน้ำตาลแดง ก้านใบยาว 1.5 ซม.
    ดอก    สีขาว ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบรองดอกติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอก 5 กลีบ รูปขอบขนาน ขนาดยาวประมาณ 1 ซม. มีขนตามผิวนอกของกลีบ เกสรผู้สีเหลืองเข้ม
    ฝัก/ผล    กลมหรือแป้น สีเขียวอ่อน หัวและท้ายแบน ขนาดกว้าง 2.5 ซม. ยาว 2 ซม. แข็งมากมีขนคลุมประปราย
    เมล็ด    มี 1-2 เมล็ด
ฤดูกาลออกดอก:    ธันวาคม-กุมภาพันธ์ ติดผลเดือนมีนาคม-เมษายน
ส่วนที่มีกลิ่นหอม:    ดอก
การใช้ประโยชน์:    - ปลูกเป็นไม้ประดับ
                             - สมุนไพร
                             - ทำธูป ทำกระแจะ หรือเครื่องหอม
แหล่งที่พบ:    พบขึ้นตามป่าดิบเขา ที่ความสูง 600-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล
สรรพคุณทางยา:  ยาง ของมันมีกลิ่นหอม ใช้เป็นยาบำรุงเส้น แก้ลม แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ สมานแผล ดับกลิ่นเน่าเหม็นทุกประเภท เมื่อนำมาผสมกับขี้ผึ้งใช้ทาแก้โรคเชื้อรา น้ำกัดเท้า ทาแผล ใช้เผาไฟเอาควันอบห้องซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อโรคในอากาศ เป็นยาไล่ยุงริ้น  

คำสำคัญ: กำยาน