ค้นหาสินค้า

ลักษณะพฤกษศาสตร์ของว่านดอกทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Curcuma spp.
ชื่อวงศ์:  ZINGIBERACEAE 
ลักษณะทั่วไป:
    ต้น  เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะลำต้นใต้ดินเป็นเหง้ากลม แตกแง่งเป็นไหลเล็ก ยาว 5-10 นิ้ว รากเป็นเส้นใหญ่ ไม่แตกรากฝอย ลำต้นและใบเหมือนขมิ้น ลำต้นประกอบด้วยกาบของก้านใบหลายกาบซ้อนกัน ลำต้นส่วนที่ฝังอยู่ในดินและหัวเป็นสีขาวหรือขาวอมเขียว รากเป็นสีน้ำตาล
    ใบ  ใบรูปใบพาย ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบติดก้านใบ พื้นใบสีเขียว เส้นกลางใบสีแดงเข้มหรือแด เลือดหมู ส่วนที่เห็นเป็นลำต้นเหนือดินสีแดงเข้มเช่นกัน
    ดอก  ช่อดอกเป็นกาบเรียงซ้อนสับขวางกันหลายๆ กาบ ความสูงของต้นประมาณ 1 ฟุต คล้ายดอกกระเจียว แต่ไม่มีก้านดอก อยู่ติดกับพื้นดิน โดยแทงดอกขึ้นจากเหง้าหลักที่อยู่ใต้ดินก่อนการงอกของใบ 
ฤดูกาลออกดอก:  ดอกจะออกในช่วงฤดูร้อนต่อเนื่องจนถึงฤดูฝน
การดูแลรักษา:  ในดินร่วนปนทราย ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ควรวางให้ได้รับแสงแดดรำไรบ้างพอสมควร
การขยายพันธุ์:  การแยกหน่อ
การใช้ประโยชน์:  ไม้ประดับ
ความมงคล:
ว่านดอกทองมีอำนาจทางเพศรุนแรง โดยเฉพาะสตรีจะเกิดรุนแรงมาก ถ้าเอาหัว หรือใบ หรือต้นใส่โอ่งน้ำหรือบ่อน้ำ หากใครกินเข้าไปจะมีความรู้สึกทางเพศรุนแรง โดยเฉพาะดอกถ้าส่งกลิ่น คนที่ได้กลิ่นจะพากันมัวเมาในโลกียรส จึงมีความเชื่อว่าต้องเด็ดดอกทิ้ง  คนหนุ่มสมัยโบราณ ยังมักเสาะแสวงหาดอกของว่านดอกทองเก็บสะสมไว้หุงกับน้ำมันจันทน์ หรือบดรวมกับสีผึ้งทาปาก ใช้น้ำมันทาตัว หรือใช้สีผึ้งสีปากเมื่อถึงคราวจะต้องไปพบหญิงสาว ด้วยมีความเชื่อว่าหากสตรีใดต่อคารมด้วย พอได้กลิ่นว่านในน้ำมันหรือสีผึ้งมักใจอ่อนคล้อยตามได้ง่าย
ตำแหน่งที่ปลูก:
มีความเชื่อว่าหากปลูกไว้ที่หน้า บ้าน ร้านค้าหรือสถานบริการ จะมีสรรพคุณทางเมตตามหานิยม ทำให้มีลูกค้าอุดหนุนเนืองแน่น อย่างไรก็ตาม บางตำราระบุว่าห้ามนำไปปลูกภายในบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าอาจจะเป็นเหตุให้มีการผิดลูกเมียของสมาชิกในครอบครัวได้ (เนื่องจากคนไทยสมัยโบราณมักจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่)

คำสำคัญ: ว่านมหาเสน์ห์