ค้นหาสินค้า

ลักษณะพฤกษศาสตร์ของลิ้นมังกร

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Sansevieria spp.
ชื่อวงศ์:  Dracaenaceae
ชื่อสามัญ:  Snake plant หรือ Mother-in-laws Tongue
ชื่อพื้นเมือง:  ว่านหางเสือ, ว่านงาช้าง (หอกสุระกาฬ), คลีบปลาวาฬ, ลิ้นนาคราช
ลักษณะทั่วไป:
    ต้น  เป็นหัวหรือเหง้าอยู่ในดิน ใบเกิดจากหัวโผล่ออกมาพ้นดินประกอบกันเป็นกอ
    ใบ  เป็นแท่งกลมยาวหรือใบแบนกว้าง ปลายแหลม แข็ง หนาเป็นมัน ขอบใบเรียบ โค้งงอเล็กน้อยหรือเป็นเกลียว ใบมีความกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าตามแต่สายพันธุ์นั้น ๆ สีสันของใบลิ้นมังกรจะมีสีเขียวซีดจนถึงสีเขียวเข้ม บางสายพันธุ์ใบมีสีเขียวเข้มขอบใบมีสีเหลืองทอง หรือใบมีสีเหลืองและมีสีขาวเป็นเส้นตามแนวใบ สีขาวประ สีเขียวอมเหลือง เขียวอมด่าง สีฟ้า และลักษณะลวดลายบนใบที่มีความแตกต่างและสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ ละสายพันธุ์
    ดอก  ลิ้นมังกรมักจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ดอกมีสีขาวหรือสีเขียวอ่อนและมีกลิ่นหอม ดอกมี 5 กลีบขนาดเล็กประมาณ 1.5 เซนติเมตร เรียงเป็นแนวตามชั้นของก้านดอก สามารถจำแนกการออกดอกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
    - spike-like raceme ลักษณะการออกดอกเรียงเป็นแนวตามชั้นของก้านดอก ขนานกับใบ
    - panicle raceme ลักษณะการออกดอกเรียงเป็นแนวตามการแตกกิ่งที่แผ่ออกของก้านดอก
    - capitate raceme ลักษณะการออกดอกยื่นสูงเป็นพุ่มเดี่ยวที่ปลายก้านดอก
การขยายพันธุ์:  วิธีการแยกหน่อ วิธีการปักชำใบ วิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การใช้ประโยชน์:
    -    ไม้ประดับ
    -    สมุนไพร
สรรพคุณทางยา:  ใบ ของลิ้นมังกรมีรสขม มีสรรพคุณแก้อาการเจ็บคอ บำรุงปอด แก้โรคติดเชื้อในบางระบบทางเดินหายใจส่วนบน ใบใช้ตำหรือขยี้แล้วนำไปทาหรือพอกบริเวณแผลที่อักเสบช่วยให้ทุเลาอาการลงได้
ความมงคล:  คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นลิ้นมังกรไว้ประจำบ้านจะช่วยป้องกันภยันตรายจากสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ เพราะลิ้นมังกรบางคนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หอกพระอินทร์ ซึ่งเป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่พระอินทร์ใช้ในการต่อสู้และปกป้องศัตรูจากภายนอก หลายคนจึงเชื่อว่าลิ้นมังกรเป็นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นไม้ที่มีความสำคัญของพระอินทร์ในสมัยพุทธกาล นอกจากนี้บางคนเชื่อว่าการปลูกลิ้นมังกรบริเวณรอบรั้วบ้านจะช่วยป้องกันไม่ให้งูหรือสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นอันตรายเข้ามาได้เนื่องจากลิ้นมังกรเป็นไม้ประดับที่มีใบขึ้นเบียดกันหนาแน่น และบางสายพันธุ์มีขอบใบที่เรียบเป็นลักษณะที่สัตว์เลื้อยคลานบางประเภท รังเกียจ

*ลิ้นมังกรมีคุณสมบัติ ช่วยฟอกอากาศบริเวณรอบ ๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้น ช่วยดูดซับสารพิษ ไอระเหยประเภทฟอร์มาลดีไฮด์ โทลูอีน เบนซิน คลอโรฟอร์ม ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารพิษอื่น ๆ ที่มาจากสีทาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น

คำสำคัญ: ลิ้นมังกร