ค้นหาสินค้า

การทำให้มันสำปะหลังปลอดเพลี้ยแป้ง

ต้องใช้วิธีการผสมผสาน ดังนี้

   

1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 4 วิธี ได้แก่

   

1.1 ควรมีการไถและพรวนดินหลายๆ ครั้ง และตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้ง

   

1.2 ควรปลูกต้นฤดูฝนเพื่อให้มันสำปะหลังแข็งแรง ทนทานต่อการทำลายของเพลี้ยแป้ง โดยหลีกเลี่ยงการปลูกในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่มันสำปะหลังยังเล็ก และกระทบแล้ง (ในเดือนมกราคมถึงมีนาคม) ช่วงนี้เพลี้ยแป้ง ไรแดง แมลงหวี่ขาวระบาดมีความต้านทานต่ำ และกระทบแล้งพอดี

   

ระยะเวลาของ การปลูกที่เหมาะสมคือ กุมภาพันธ์-มีนาคม (น้ำหยด) หรือต้นฝน (เมษายน-พฤษภาคม) เพราะเป็นช่วงเวลาที่มันเล็กจะอยู่ในระหว่างฤดูฝน ทำให้เจริญเติบโตได้เร็วกว่า หรือการปลูกปลายฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม) ซึ่งจะได้รับน้ำฝนเดือนสิงหาคมและกันยายน

   

1.3 คัดเลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง และควรใช้พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำ และหลีกเลี่ยงการนำต้นพันธุ์จากแหล่งระบาดเข้ามาปลูกในพื้นที่ ก่อนปลูกทุกครั้งต้องแช่ท่อนพันธุ์ในยาฆ่าเชื้อและไข่ของเพลี้ยแป้งเสมอ หรือมีการแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมากับท่อนพันธุ์

   

1.4 ถอนต้นหรือตัดส่วนของต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งจำนวนมากออกจากแปลงแล้วเผา หรือทำลาย

   

2. การใช้ชีววิธี ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 2 วิธี ได้แก่

   

2.1 ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย ร่วมกับสารจับใบไคดินฉีดพ่น ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนี้

   

เด็ดยอดมันสำปะหลังที่มีกลุ่มเพลี้ยแป้งอาศัยออก ใส่ถุงพลาสติคสีดำ ตากแดดไว้จนกว่าเพลี้ยแป้งจะตาย

   

ฉีด พ่นเชื้อราบิวเวอร์เรียในเวลาเย็น อุณหภูมิต้องไม่เกิน 27 องศาเซลเซียส ความชื้นต้องไม่ต่ำกว่า 50% เชื้อราจะเข้าทำลายเพลี้ยแป้ง ส่วนสารจับใบไคดินที่มีองค์ประกอบของไคโตซานจะทำหน้าที่กระตุ้นการแตกยอด ใหม่ และกระตุ้นให้พืชสร้างเอ็นไซม์ไคดินเนส (พิษ) เพื่อป้องกันแมลงปากดูดทุกชนิดที่มีองค์ประกอบของเปลือกหุ้มเป็นไคดินทำลาย ฉีดพ่นซ้ำหลังการพ่นครั้งแรก 5-7 วัน

   

2.2 ใช้แมลงศัตรูเพลี้ยแป้งควบคุม เนื่องจากเพลี้ยแป้งมีศัตรูธรรมชาติทั้งแมลงเบียนและแมลงห้ำคอยควบคุมปริมาณ เพลี้ยแป้งให้อยู่ในระดับสมดุลอยู่แล้วในสภาพปกติ ได้แก่ ด้วงเต่า และแมลงช้างปีกใส

   

2.3 ทำไร่มันสำปะหลังด้วยระบบชีวภาพ หมักดินให้ดีมีภูมิต้านทานโดยใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือน้ำหมักชีวภาพจากปลาทะเล (ปุ๋ยปลาร้า) เพื่อดึงความสมดุลทางธรรมชาติให้กลับคืนมา นอกจากจะให้ผลผลิตสูงสุดจากการเพิ่มศักยภาพของดินให้สมบูรณ์ มีธาตุอาหารครบแล้วยังไม่มีโรค แมลงมารบกวน เป็นการป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุอีกทางหนึ่ง

คำสำคัญ: มันสำปะหลัง