ค้นหาสินค้า

การเพาะเห็ดในโอ่ง

วัสดุและอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดในโอ่ง

   

โอ่ง มังกร (โอ่งแตก หรือโอ่งร้าว) จำนวน 1 ใบ ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าหรือเห็ดถุงชนิดอื่นๆ จำนวน 20 ก้อน ซาแรนหรือกระสอบป่าน สำหรับปิดปากโอ่ง จำนวน 1 ผืน ไม้ไผ่ตีเป็นตะแกรง ขนาดความกว้างxยาว ให้พอดีกับขนาดโอ่งที่เตรียมไว้ กรอบไม้ทำฐานรองพื้นโอ่ง (ด้านนอก) ทรายหยาบ รองพื้นโอ่ง และเชือกฟาง เป็นต้น

   

 

   

ขั้นตอนการเพาะ

   

1. นำไม้ที่เตรียมไว้สำหรับทำฐานรองโอ่งด้านนอก มาตีล้อมกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้มีพื้นที่ว่างระหว่างกรอบไม้เพียงพอต่อการวางพื้นที่ผิวของโอ่งที่จะ วางในแนวนอน ไม่ให้โอ่งกลิ้ง

   

2. นำโอ่งมาวางในแนวนอน บนฐานกรอบไม้ที่เตรียมไว้ในบริเวณที่มีร่มเงา และอากาศถ่ายเทสะดวก

   

3. นำทรายหยาบมาเทรองพื้นโอ่งที่วางไว้ในแนวนอน กะให้มีความหนาประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อกักเก็บความชื้น

   

4. นำตะแกรงไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางด้านในโอ่ง โดยให้มีพื้นที่ว่างด้านบนมากกว่าพื้นที่ว่างด้านล่าง

   

5. นำก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอก ด้วยวิธีการเปิดจุกก้อนเชื้อด้านบน บังคับให้ดอกออกเป็นกระจุกด้านบน ก่อนวางเรียงก้อนเชื้อเห็ดจนเต็ม (แล้วปิดปากโอ่งด้วยกระสอบป่านหรือซาแรน แล้วใช้เชือกผูกยึดกระสอบ (ด้านบน) กับขอบปากโอ่งให้แน่น โดยปล่อยชายกระสอบให้สามารถเปิดขึ้นลงได้

   

6. รดน้ำบนก้อนเชื้อเห็ด เช้า-กลางวัน-เย็น ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไป ควรเพิ่มความชื้นโดยใช้กระบอกฉีดน้ำ พ่นน้ำให้เป็นฝอยๆ ในโอ่ง เพื่อเป็นการให้ความชื้นแก่ก้อนเห็ด แล้วปิดปากโอ่งไว้ หลังเพาะประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมองเห็นตุ่มสีขาวเล็กๆ เกิดขึ้นบนก้อนเชื้อเห็ด ในช่วงนี้ต้องระวังเรื่องการรดน้ำ อย่าให้ดอกเห็ดโดนน้ำเป็นอันขาด มิฉะนั้น ดอกจะฝ่อและเน่าเสียหาย แต่ยังคงต้องพ่นน้ำให้ความชื้นอยู่ทุกวัน

   

7. หลังจากสังเกตเห็นตุ่มดอกเห็ด ประมาณ 7-10 วัน ตุ่มเห็ดจะพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สามารถเก็บมารับประทานได้จนกว่าดอกเห็ดจะหมด รุ่น ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน

   

ควรระมัดระวังเรื่องความชื้น ในช่วงวันที่ 1-3 อย่าให้อุณหภูมิภายในโอ่งร้อน หรือขาดความชื้น ถ้าร้อนเกินไปให้เปิดปากกระสอบป่านเพื่อระบายอากาศออกจากโอ่ง

   

น้ำที่ ใช้สำหรับการรดก้อนเชื้อเห็ดจะต้องเป็นน้ำที่จืด มีค่า pH เป็นกลาง ไม่มีคลอรีนเจือปน เรื่องน้ำที่ใช้รดก้อนเห็ดนั้นสำคัญมาก ถ้าน้ำกร่อยหรือเค็มจะส่งผลให้เห็ดไม่ออกดอก น้ำที่ดีที่สุดคือ น้ำฝน หรือจะใช้น้ำประปาที่ผ่านการขจัดคลอรีนออกแล้วก็ได้ผลดีเช่นกัน (การรองน้ำประปาตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน จะช่วยขจัดคลอรีนออกไปได้)

   

เห็ด ที่จะนำมาใช้ในการเพาะแต่ละชนิดนั้น จะมีความต้องการและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน เช่น เห็ดประเภทนางรม หูหนู และเป๋าฮื้อ จะต้องการสภาพอากาศที่ร้อนชื้นจนถึงสภาพอากาศตามปกติ ส่วนเห็ดนางฟ้า เห็ดหอม จะต้องการอากาศที่ค่อนข้างเย็นในการเจริญเติบโต การเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดใดๆ ควรจะมีการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดชนิดนั้นๆ ด้วย

   

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย มติชนบท เทคโนโลยีชาวบ้าน

คำสำคัญ: ก้อนเชื้อเห็ด