ค้นหาสินค้า

ลักษณะพฤกษศาสตร์ของเฮลิโคเนีย

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Heliconia spp.
ชื่อวงศ์:  Heliconiaceae
ชื่อพื้นเมือง:  ก้ามกุ้ง สร้อยกัทลี ธรรมรักษา
ลักษณะทั่วไป:
    ต้น  ไม้ล้มลุก อวบน้ำ มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า เหง้า ลักษณะคล้ายกับกล้วย ลำต้นมีความสูงประมาณ 1 - 2 เมตร การเจริญเติบโตจะแตกหน่อออกมาเป็นกอ
    ใบ  การเรียงตัวของใบ จะเรียงสลับตรงกันข้ามในระนาบเดียวกัน มีทั้งใบที่คล้ายกล้วย คือมีก้านใบยาว และอยู่ในแนวตั้ง, ใบที่คล้ายขิง คือ มีก้านใบสั้น และใบอยู่ในแนวนอน และใบที่คล้ายพุทธรักษา คือมีก้านใบสั้น หรือยาวไม่มากนัก และใบทุกมุมป้านกับลำต้น
    ดอก  ดอกเฮลิโคเนียจะออกเป็นช่อ สะดุดตา และมีสีสันสวยงาม ช่อดอกมักแทงออกกลางลำต้นเทียม และเป็นส่วนสุดท้ายของการเจริญ. ช่อดอกอาจตั้ง (upright) หรือห้อย (pendent) แล้วแต่ชนิด ส่วนของช่อดอกจะประกอบด้วย
    •    ก้านช่อดอก (peduncle) เป็นส่วนต่อระหว่างโคนใบสุดท้ายกับโคนกลีบประดับกลีบแรก
    •    กลีบประดับ (inflorescence bract , cincinal bract) เป็นส่วนที่พัฒนามาจากใบ
    •    ก้านต่อระหว่างกลีบประดับ (rachis) ส่วนนี้อาจมีสี และผิวแตกต่างจากกลีบประดับ และอาจตรงหรือคดไปมาได้ (zigzag) แล้วแต่ชนิด
    ฝัก/ผล  มีลักษณะคล้ายผลท้อ (drupe) มีเนื้อนุ่ม และมีชั้นหุ้มเมล็ดที่แข็ง. ผลสุกจะมีสีน้ำเงิน ถ้าเป็นชนิดที่พบในทวีปอเมริกา และสีส้มในชนิดที่พบในหมู่เกาะแปซิฟิก:
การดูแลรักษา:  สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งในที่ร่มรำไรถึงกลางแจ้ง และเจริญเติบโตได้ดีในที่ลุ่มและชื้นแฉะ
การขยายพันธุ์:  โดยการเพาะเมล็ด, แยกกอ หรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
    •    การเพาะเมล็ด ทำโดยนำเมล็ดที่สุกกำจัดส่วนที่เป็นเนื้อออก นำไปแช่น้ำก่อนเพาะ และควรแช่สารเคมีป้องกันเชื้อรา เพาะในกะบะลึกเท่ากับความหนาเมล็ด โดยมีทรายและขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 1:1 เป็นวัสดุปลูก เมล็ดเฮลิโคเนียใช้เวลางอกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี
    •    การแยกกอ โดยการแยกกออกเป็นส่วน ๆ ให้มีลำต้นเทียมติดเหง้าอยู่ 1-2 ต้น โดยมีทรายผสมขุยมะพร้าวหรือดินผสมเป็นวัสดุปลูก ชำในที่ร่มรำไร ประมาณ 4-6 สัปดาห์ รากและหน่อใหม่จะเริ่มงอก
    •    การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะได้ต้นที่ปราศจากเชื้อโรค เช่น Ralstonia solanacearum และได้หน่อจำนวนมาก ขึ้นกับชนิดเฮลิโคเนีย เมื่อเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเฮลิโคเนีย H. psittacorum L.f. 4 พันธุ์ คือ พันธุ์ Golden Torch, Orange, Andromeda และ Sassy โดยใช้ตาที่ปลายยอดและตาตามซอกกาบใบ (terminal and axillary bud) ของเหง้าบนสูตรอาหาร Murashige and Skoog (MS) ใช้เวลาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 4-5 เดือน มีอัตราการเพิ่มของหน่อเป็น 5 เท่าของการขยายพันธุ์โดยการแยกกอ
การใช้ประโยชน์:  ไม้ประดับ
ถิ่นกำเนิด:  เขตร้อนของทวีปอเมริกา และหมู่เกาะในแถบทะเลแคริบเบียน ธรรมรักษาส่วนมากจะพบ
ในเขตชื้นหรือแฉะแต่ก็พบบ้างในบริเวณที่มีช่วงแล้ง พบตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึง 1,800
เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แต่จะเจริญได้สมบูรณ์ที่สุดที่ระดับต่ำกว่า 460 เมตร

คำสำคัญ: เฮลิโคเนีย