ค้นหาสินค้า

ลักษณะพฤกษศาสตร์ของบัวหลวง

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Nelumbo nucifera
ชื่อวงศ์:  NYMPHACACEAE
ชื่อสามัญ:  Lotus, Sacred lotus, Egyptian
ชื่อพื้นเมือง:  บุณฑริก ปุณฑริก  ปทุม ปัทมา โกกระณต สัตตบุษย์  บัวฉัตรขาว   สัตตบงกช   บัวฉัตรชมพู   โช้ค  บัวอุบล
ลักษณะทั่วไป:
    ต้น  ไม้โผล่เหนือน้ำ อายุหลายปี ลำต้นมีทั้งที่เป็นเหง้าใต้ดิน และเป็นไหลเหนือดิน ใต้น้ำ
    ใบ  ใบเดี่ยว  เรียงสลับ  ใบรูปไข่ค่อนช้างกลม ขนาด 15-40 เซนติเมตร ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเรียบ สีเขียวและมีนวลเคลือบ ก้านใบกลมเรียวแข็งส่งใบให้เจริญที่ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ มีหนามเป็นตุ่มเล็กๆ ภายในก้านใบมีน้ำยางใสเมื่อถูกอากาศเป็นสีคล้ำ
    ดอก  สีชมพู ขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ก้านดอกสีเชียว อวบกลมส่งดอกชูขึ้นเหนือน้ำ  กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ มีทั้งกลีบดอกชั้นเดียวและกลีบดอกซ้อนกัน  มีเกสรตัวผู้จำนวนมากติดอยู่รอบฐานรองดอกที่บวมขยายใหญ่ หุ้มรังไข่ไว้ภายในเรียกว่า   "ฝักบัว"   ดอกบานเต็มที่กว้าง 20-25 เซนติเมตร บัวหลวงมีหลายพันธุ์มีชื่อเรียกต่างกันไปตามขนาดและลักษณะชองดอกคือ     
                    ดอกเล็กสีขาว เรียก บัวปักกิ่งขาว บัวหลวงจีนขาว บัวเข็มขาว
                    ดอกเล็กสีชมพู เรียก บัวปักกิ่งชมพู บัวหลวงจีนชมพู บัวเข็มชมพู
                    ดอกสีขาว เรียก บุณฑริก ปุณฑริก
                    ดอกสีชมพู เรียก ปทุม ปัทมา โกกระณต
                    ดอกสั้นป้อมสีขาวกลีบซ้อน เรียก บัวสัตตบุษย์ บัวฉัตรขาว
                    ดอกสั้นป้อมสีชมพูกลีบซ้อน เรียก บัวสัตตบงกช บัวฉัตรสีชมพู
    ฝัก/ผล  ผลแห้ง เเบบผลกลุ่มประกอบด้วยผลย่อยรูปกลมรีจำนวนมากอยู่ภายในฝักบัวรูปกรวย ในผลย่อยมีเมล็ดขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เมล็ดล่อน
ฤดูกาลออกดอก:  ตลอดปี
การปลูก:  ปลูกประดับสระน้ำหรือปลูกในกระถางทรงสูง
การขยายพันธุ์:  ไหล หรือโดยการแยกกอ
ส่วนที่มีกลิ่นหอม:  ดอก
การใช้ประโยชน์:
    -    ไม้ประดับ
    -    ก้านใบและก้านดอก ทำกระดาษ และเส้นใยใช้ทำไส้ตะเกียง
    -    บูชาพระ
    -    เปลือกเมล็ดบัวแห้ง และฝักแก่ทำปุ๋ย
    -    เครื่องสำอาง
    -    สมุนไพร
    -    บริโภค
แหล่งที่พบ:  พบทั่วไปทุกภาค
ส่วนที่ใช้บริโภค:  เม็ดบัว รากบัว ไหลบัว สายบัว ใบอ่อน
การปรุงอาหาร:
    -    เม็ดบัว สามารถนำมากินได้ทั้งสดและแห้ง เม็ดบัวมีปริมาณสารอาหารที่สำคัญ คือ โปรตีน ประมาณ 23 % ซึ่งสูงกว่าข้าวถึง 3 เท่า และเป็นแหล่งรวมธาตุ อาหารหลายชนิดด้วยกัน เม็ดบัวนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน เช่น สังขยา เม็ดบัว ขนมหม้อแกงเม็ดบัว เม็ดบัวเชื่อม สาคูเม็ดบัว เป็นต้น
    -    รากบัว นิยมนำมาเชื่อมแห้งกินเป็นของหวาน
    -    ไหลบัว สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสด ทั้งแห้ง โดยมากจะนำมาแกงส้ม แกงเลียง ผัดเผ็ดต่าง ๆ
    -    สายบัว สามารถปรุงอาหารแทนผักได้หลายชนิด ทั้งแกงส้มสายบัว แกงสายบัวกับปลาทู ฯลฯ
    -    ใบอ่อน สามารถนำมากินเป็นผักสดแกล้มน้ำพริก
สรรพคุณทางยา:
    -    รากบัว นำไปต้มกับน้ำตาลกรวด แก้ร้อนใน ชาวอินเดีย จะให้เด็กดื่มน้ำรากบัว เพื่อระงับอาการท้องร่วง
    -    สายบัว กินเพื่อแก้อาการท้องร่วง
    -    ใบบัว นำมาหั่นฝอย ๆ ชงดื่มแทนน้ำชา ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำได้เป็นอย่างดี
    -    เกสรบัว  ส่วนของเกสรสีเหลือง สามารถใช้เข้าเครื่องยาทั้งไทยและจีน โดยเฉพาะยาลม ยาหอม ยาบำรุงหัวใจ และยาขับปัสสาวะ
    -    ดีบัว เป็นส่วนของต้นอ่อนที่อยู่ภายในเม็ดบัว มีรสขมจัด สามารถนำมาเป็นส่วนผสมของยาโบราณ มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้
ความมงคล:
บัวหลวง นับว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนไทยก็ยังนิยมนำดอกบัวหลวงมาใช้บูชาพระ  ยากที่จะหาไม้ดอกชนิดอื่นมาทดแทนได้ ซึ่งบัวที่นิยมนำมาไหว้พระก็ได้แก่ บัวหลวง บัวหลวง นอกจากดอกที่มีคุณค่าแล้ว ส่วนอื่นๆของบัวหลวงก็มีคุณค่าไม่แพ้ดอก ซึ่งแต่ละส่วนก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น

*ดอกบัวหลวงเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี พิจิตร ยโสธร สุโขทัย และหนองบัวลำภู

คำสำคัญ: บัว