ค้นหาสินค้า

ไม้มงคล


โดย สวนสุริยา

ความหมายไม้มงคล    
ไม้มงคล   หมายถึง  ต้นไม้ที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือน  และเอาเคล็ดจากชื่อในการเรียกขานหรือมีผู้ทัก  ให้เสียงที่เปล่งออกมาเป็นสิริมงคลแก่ตนผู้เป็นเจ้าของและครอบครัว    
   
1. ทิศบูรพา ( ตะวันออก) โบราณท่านว่าให้ปลูกไผ่สีสุก กุ่มมะพร้าว วิเคราะห์กันตามเหตุผลได้ดังนี้    
–  ไผ่สีสุก กอไผ่ช่วยพรางแสงแดดตอนเช้าด้านตะวันขึ้น ลำต้นเป็นต้นไม้ขนาดกลาง ไม่ใหญ่เหมือนไผ่ตงหรือไผ่บง หรือเล็กกว่าไผ่รวก กอและพุ่มใบไม่แน่นเกินไป ได้อาศัยไม้จักสานกระบุงกระจาด ตะกร้า เครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ และเหตุผลสำคัญคือ ชื่อเป็นมงคลนาม กล่าวคือ เพื่อให้ความมั่งมี – ศรีสุข (สีสุก) มีอันจะกินอยู่เย็นเป็นสุข หรือมีอนาคตที่สุกใส    
– กุ่ม เป็นต้นไม้ขนาดกลาง สูง  ๑๐-๒๐  เมตร  ใบมี  ๓  แฉก  ชอบขึ้นข้างทาง เป็นอาหารได้ โบราณมักจะปลูกไว้เพื่อเป็นอาหารคิดว่าคนโบราณคงปลูกไว้เอาชื่อเป็นเคล็ด เช่นเดียวกับไผ่สีสุก  เมื่อมั่งมีศรีสุขแล้วก็คงหวังจะให้เก็บเงินเป็นกลุ่มเป็นก้อน    
– มะพร้าว เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก คนโบราณจึงมักปลูกไว้เพื่อประโยชน์ใช้สอย และนิยมปลูกเป็นแนวรอบที่เพื่ออาศัยรากป้องกันดินทลาย และเป็นแนวกำบังลม    
   
   2.   ทิศอาคเนย์   ( ตะวันออกเฉียงใต้)   ปลูกสารภี ยอ กระถิน    
–  สารภี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ ขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบทั่วประเทศ สารภีเป็นไม้ไทย ๆ ที่อายุยืน    
–  ยอ  (ยอบ้าน)  เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม  ใบปรุงอาหารได้  โบราณท่านปลูกใกล้บ้าน เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการประกอบอาหารและเป็นยารักษาโรคบางชนิด เหตุผลเกี่ยวกับเคล็ดลับความเชื่อ คงหวังให้ผู้คนสรรเสริญ เยินยอ หรือยกยอปอปั้นในสิ่งที่ดีงาม    
–  กระถิน เป็นไม้พุ่มถิ่นเดิมของอเมริกานิยมปลูกเป็นรั้วบ้านด้านความเชื่อ บางแห่ง เชื่อกันว่าป้องกันเสนียดจัญไร    
   
  3.   ทิศทักษิณ   ( ใต้)   ปลูกไม้ผล มีมะม่วง มะพลับ ตะโก    
–  มะม่วง คนไทยแต่ก่อนช่างจดช่างจำ เป็นผู้มีความกตัญญูรู้คุณบิดา มารดา ไม่ ว่าผู้นั้นหรือสิ่งนั้นจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน แม้กระทั่งรุกขชาติ สำหรับมะม่วง คงจะนึกถึงสวนอัมพวัน เมื่อครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปครั้งพุทธกาลก็เป็นได้    
– มะพลับ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สำหรับพืชชนิดนี้มุ่งประโยชน์ใช้เป็นยารักษาโรคมากกว่าจะปลูกไว้เป็นอาหาร    
–  ตะโก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ทนทานต่อความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศ มีประโยชน์ ทางยา บรรพบุรุษของเราคงเห็นเป็นคุณมากกว่าโทษ จึงปลูกเอาไว้ใช้ประโยชน์    
   
4.   ทิศหรดี ( ตะวันตกเฉียงใต้)   ให้ปลูกพิกุล  ขนุน  ราชพฤกษ์  สะเดา    
–  พิกุล มีพุ่มใบหนา เหมาะที่จะปลูกไว้บังแดดตอนบ่าย มีประโยชน์ใช้สอยมากมาย มี สรรพคุณทางยามากมาย บางท้องถิ่นก็ว่าไม่ควรปลูกที่บ้าน แต่ควรปลูกที่วัด มากกว่า    
– ราชพฤกษ์ จากความสวยงามของดอก ประกอบกับความสำคัญอื่น ๆ ของพันธุ์ไม้นี้ เป็นที่ยอมรับแต่โบราณว่า ราชพฤกษ์เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูง เป็นมงคลนาม ชาวไทยแต่เดิมใช้ในพิธีสำคัญ ต่าง ๆ อาทิ ในพิธีลงเสาหลักเมือง นอกจากนั้นราชพฤกษ์ยังได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาต้นไม้และสัตว์ แห่งชาติลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ประจำชาติไทย    
– ขนุน ตามชนบทเชื่อกันว่า ปลูกขนุนในบริเวณบ้านแล้วจะมีคนสนับสนุน หรืออดหนุนจุนเจือ    
– สะเดา บางท้องถิ่นเชื่อว่า กิ่งและใบสะเดาสามารถป้องกันภูตผีปีศาจ    
   
5.   ทิศประจิม ( ตะวันตก)   ตามตำราให้ปลูกต้นมะขาม มะยม พุทรา    
– มะขาม ปลูกไว้ให้คนเกรงขามคร้ามเกรง    
– มะยม ปลูกไว้ให้ผู้คนได้นิยมหรือมีนะเมตตามหานิยม    
– พุทรา นิยมปลูกคู่กับมะยม หวังให้ผู้คนนิยมไม่สร่างซา    
   
6.   ทิศพายัพ   ( ตะวันตกเฉียงเหนือ)   ปลูกมะพูด มะนาว มะกรูด    
– มะพูด”ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต” (สุนทรภู่) ประโยชน์ทั่วไปคงไม่สู้มีมากนัก คนแต่ก่อนคงเอาเคล็ดหาต้นมะพูดมาปลูกไว้ใกล้เป็นร่มเงา และคงหวังให้ลูกหลานเป็นคนช่างพูด ช่างเจรจาก็เป็นได้    
– มะนาว คนบ้านป่าเดินทางด้วยเกวียนเทียมโคหรือกระบือเมื่อได้กลิ่นสาบเสือก็ จะหยุดเดิน จะเฆี่ยนตีอย่างไรก็ไม่ยอมเดินเจ้าของเกวียนจึงขูดผิวมะนาวหรือ มะกรูดป้ายจมูกให้ดับกลิ่นสาบเสือ โคกระบือจึงเดินต่อไป ดังนั้นการเดินทางสมัยก่อนผ่านป่าละเมาะผ่านดงผู้เดิน ทางจึงมักพกพาผลมะนาวและมะกรูดติดตัวไปด้วยเสมอ    
– มะกรูด เช่นเดียวกับมะนาว    
   
7.   ทิศอุดร   ( ทิศเหนือ)   ในตำราให้ปลูกส้มป่อย ส้มซ่า และมะเดื่อ    
–  ส้มป่อย ใบส้มป่อย ใบเงิน ใบทอง ใบมะกรูด หญ้าแพรกใบราชพฤกษ์ ใบมะตูม  และใบหมากผู้หมากเมีย ใช้เข้าพิธีสะเดาะเคราะห์สะเดาะโศก ใช้กันมาแต่ครั้งโบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันบางแห่งเชื่อกันว่าปลูกต้น ส้มป่อยไว้ขับภูตผีปีศาจ    
–  ส้มซ่า คงแก้เคล็ดให้บุตรหลาน มีชื่อเสียงขจรขจายซู่ซ่าไปทั่วเมือง    
–  มะเดื่อ  หาหลักฐานยืนยันไม่ได้    
   
8.   ทิศอีสาน ( ตะวันออกเฉียงเหนือ) โบราณท่านว่าให้ปลูก ทุเรียน ไผ่รวก มะตูม    
–  ทุเรียน เป็นผลไม้ที่เลือกปลูกดินเค็ม  น้ำกร่อย  ความชื้นในอากาศน้อย  ไม่เหมาะจะปลูก แต่ถ้าอยากปลูกเอาเคล็ด ควรหาทุเรียนเทศมาปลูกเอาเคล็ดโบราณคงหมายถึงความเป็นผู้คงแก่เรียนก็ได้    
–  ไผ่รวก  ยังหาหลักฐานไม่ได้    
– มะตูม ใบใช้ทำน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ เข้าพิธีพุทธาภิเษกต่าง  ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ใบมะตูมทัดหูให้แก่เอกอัครราชทูต  ราชทูต  ที่ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมลาไปรับตำแหน่งในต่างประเทศ    
   
ต้นไม้ ตามตำราพรหมชาติที่แนะให้ปลูกตามทิศทั้งแปดนั้น  นอกจากจะยังประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวันและเป็นสมุนไพรใกล้มือแล้ว โบราณท่านยังถือคตินิยม มีเคล็ดลับ  ความเชื่อที่เป็นมงคลนามอีกด้วย  อันถือว่าเป็นอุบายในการให้กำลังใจให้มีความมานะพยายามที่จะต่อสู้ฟันฝ่า อุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต

คำสำคัญ: ไม้ประดับที่หายาก ไม้ดอก