ค้นหาสินค้า

ประโยชน์ของลูกสำรอง


โดย PREECHAKUL SAMUNPRITHAI

ประโยชน์ของสำรอง    
เมื่อนำผลมาแช่ในน้ำ เนื้อบางๆ ที่หุ้มเมล็ดอยู่จะดูดน้ำและพอตัวออกมา มีลักษณะเป็นแผ่นวุ้น เมื่อนำมาแยกวุ้นออกจากเมล็ด เปลือก และเส้นใย จะสามารถนำแผ่นวุ้นดังกล่าวมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น น้ำพริก ลาบ ยำ แกงจืด (ใช้แทนสาหร่าย) ใช้รับประทานเป็นขนมหวาน ใช้รับประทานกับน้ำกะทิ หรือใช้แทนรังนก หรือใช้ทำเป็นสำรองลอยแก้ว หรือน้ำสำรองพร้อมดื่มที่บรรจุในกระป๋อง หรือทำเป็นสำรองผง เป็นต้น<4>    
คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อผลสำรอง ประกอบไปด้วย คาร์โบไฮเดรต 68.59%, โปรตีน 8.45%, ไขมัน 0.11%, ใยอาหาร 3.97%, เถ้า 8.01%, แคลเซียม 0.25%, ฟอสฟอรัส 0.20%, ธาตุเหล็ก, 0.007%, โซเดียม 0.12%, โพแทสเซียม 0.14% (ผลวิเคราะห์โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)<8>    
ลูกสำรอง เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่ใส่ใจสุขภาพและรูปร่าง เนื่องจากวุ้นจากเนื้อของผลแก่ “มีส่วน” ช่วยในการลดน้ำหนักได้ เพราะมีเส้นใยอาหารมาก เมื่อรับประทานเข้าไปจะช่วยทำให้อิ่มท้องได้นาน ทำให้ไม่รู้สึกหิว ส่งผลให้รับประทานอาหารอื่นๆ ได้น้อยลง และวุ้นยังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำ ช่วยดูดซับไขมัน น้ำตาล สารต่างๆ (รวมถึงสารที่ประโยชน์อื่นๆ อย่างเช่น วิตามินและเกลือแร่ไปด้วย) มันจึงมีส่วนช่วยชะลอการดำเนินของโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง และช่วยลดอาการท้องผูกได้ (เพราะเนื้อวุ้นจะช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม ช่วยเพิ่มปริมาณของใยอาหาร ทำให้มีการบีบรูดของลำไส้เพื่อขับเป็นอุจจาระได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ขับถ่ายคล่อง) อีกทั้งยังช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร ช่วยลดคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตได้อีกด้วย โดยให้กินในช่วงก่อนนอน จะช่วยในการขับถ่ายในตอนเช้า กากใยที่กินเข้าไปจะไปช่วยชะล้างไขมันที่สะสมอยู่ในลำไส้ ทำให้ลำไส้ใหญ่สะอาดขึ้น ช่วยลดสารพิษตกค้าง แต่หากกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ พลอยทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา จุดนี้ขอให้ตระหนักไว้ด้วยครับ<10>,<11>    
นอกจากผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำดื่มสมุนไพรแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากสำรองที่อยู่ในรูปของแคปซูลอีกด้วย โดยมีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระและเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยบำรุงตับ และเป็นยาแก้ร้อนใน<12>    
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ได้นำสารเมือกจากลูกสำรองไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ได้แก่ การนำไปใช้เป็นสารช่วยในการแตกกระจายตัวในยาเม็ด เมื่อเทียบกับสตาร์ชข้าวโพด ก็พบว่าการแตกกระตายตัวของยาเม็ดที่มีสารเมือกสำรองเป็นสารช่วยแตกกระตายตัว จะมีอัตราเร็วในการดูดซับน้ำสูงกว่า และเม็ดยาจะแตกกระจายเร็วกกว่าการใช้สตาร์ชข้าวโพดที่ระดับความเข้มข้นเดียวกัน แลกเนื่องจากคุณสมบัติในการอุ้มน้ำของสารเมือกนี้เอง จึงมีการนำสารเมือกนี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เพื่อช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และยังนำไปใช้ในไส้กรอกแฟรงเฟอเตอร์ เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำจากการใช้ความร้อนกับไส้กรอกมากที่สุด ซึ่งจากการทดสอบทางประสาทสัมผัส พบว่าจะให้ค่าความแน่นเนื้อและค่าความยืดหยุ่นมาก<6>    
น้ำสำรอง ลดความอ้วนได้จริงหรือ?    
ในปัจจุบัน “น้ำสำรอง” กำลังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้ที่ต้องการจะลดความอ้วน โดยน้ำสำรองดังกล่าวนั้นได้บรรยายสรรพคุณไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การช่วยลดความอ้วน ช่วยกำจัดไขมันให้ออกมาจากร่างกาย ล้างไขมันในลำไส้ ด้วยการดูดซับไขมันเอาไว้แล้วอุ้มไปทิ้งพร้อมกับขับถ่าย เป็นยาระบาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ฯลฯ ซึ่งจากคำบอกเล่าแบบปากต่อปากถึง “สรรพคุณของน้ำสำรอง” ทำให้น้ำดื่มชนิดนี้กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมถึงขั้นติด 1 ใน 10 ไปเลยก็ว่าได้<5>,<7>    
จากข้อมูลทางเภสัชวิทยาเบื้องต้นที่กล่าวไป เราจะเห็นได้ว่าสารอาหารในลูกสำรอง แทบจะไม่มีสารตัวไหนที่สามารถช่วยลดความอ้วนได้เลย แต่ที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามันช่วยลดความอ้วนได้ ก็น่าจะเกิดจากใยอาหารในลูกสำรองที่เป็นใยอาหารที่ละลายน้ำ มีสารเมือกและมิวซิเลจสูง ซึ่งใยอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการพองตัวได้ดี เมื่อสัมผัสกับน้ำจะละลาย เกิดเป็นสารข้นหนืดที่สามารถช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ได้มากขึ้น มีผลทำให้อาหารเคลื่อนตัวได้ช้าลงและอยู่ในระบบทางเดินอาหารนานขึ้น จึงส่งผลไปรบกวนการดูดซึมสารอาหารต่างๆ ทำให้ไปชะลอการดูดซึมไขมันและน้ำตาลได้ดีนั่นเอง และหากรับประทานมากเกินไปหรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ร่างกายรับสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดลดลงได้<5>    
หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการลดความอ้วนแล้ว นอกจากคุณจะเลือกรับประทานเครื่องดื่มจากสมุนไพรแล้ว ก็ควรจะควบคุมอาหารเพื่อลดพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และเร่งการใช้พลังงานหรือเผาผลาญพลังงานของร่างกายให้มากขึ้นด้วยการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย ก็จะช่วยทำให้คุณสามารถลดน้ำหนักได้ตามที่หวังไว้<5>    
โทษของน้ำสำรอง ยังไม่พบว่ามีรายงานเรื่องความเป็นพิษ แต่สิ่งที่ควรจะระวังก็คือ การดื่มน้ำสำรองที่มีจำหน่ายในท้องตลาดที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้ และการดื่มน้ำสำรองแทนการรับประทานอาหาร ก็อาจจะทำให้ขาดสารอาหารได้<5>    
วิธีทำน้ำสำรอง    
ให้นำลูกสำรองไปล้างน้ำเอาเพื่อเอาเศษผงที่ติดมาออกให้มากที่สุด แล้วนำไปแช่ในน้ำทิ้งไว้ประมาณ 4-5 ชั่วโมง (พยายามกดให้ลูกสำรองจมน้ำเข้าไว้ เพื่อจะได้พองออกมากมากที่สุด)    
เมื่อลูกสำรองพองออกแล้วจะเห็นเป็นวุ้นๆ ลอยอยู่ ก็ให้เราคัดเอาเมล็ดออก (น้ำวุ้นที่ได้จะยังมีเปลือกปนอยู่)    
ให้นำวุ้นที่ได้มาใส่ในตะแกรงถี่ๆ แล้วเปิดน้ำไล่น้ำเก่าออกจนหมดกลิ่น เปิดจนน้ำจากสีดำเป็นสีใส    
ให้ตักเอาวุ้นมาใส่ผ้ากรอง แล้วรวบผ้าบีบรูดเอากากออก เก็บเอาเฉพาะเนื้อวุ้นไว้ (ให้ตักวุ้นใส่ผ้ากรองทีละน้อยพอที่จะรูดออกได้)    
นำวุ้นที่ได้มาเติมแล้วเอาไปต้ม ระหว่างต้มก็คอยคนอย่าให้ติดเนื้อวุ้นติดก้นหม้อด้วย และให้ใส่น้ำตาลทรายหรือน้ำหญ้าหวานตามแต่ต้องการ เป็นอันเสร็จ    
หมายเหตุ : หากเพิ่งหัดทำให้ทำทีละน้อยๆ เพราะลูกสำรองที่แช่น้ำแล้วจะพองออกมาเยอะมาก และน้ำสำรองที่ได้สามารถเก็บไว้ในช่องแข็งได้นาน โดยช่วงเวลาที่เหมาะแก่การรับประทาน จากข้อมูลระบุไว้ว่า ช่วง 03.00-05.00 ช่วยบำรุงปอด, 05.00-07.00 ช่วยบำรุงลำไส้ใหญ่ให้บริหาร, 07.00-09.00 ช่วยรักษาและเคลือบกระเพาะอาหาร, 09.00-11.00 ช่วยดูดซับไขมันในลำไส้และในกระเพาะอาหาร ลดไขมันหน้าท้องได้ดี, ช่วงบ่ายถึงเย็น ตะช่วยบำรุงไต, ช่วงหลังเวลา 19.00 หากกินคู่กับน้ำดอกคำฝอย จะช่วยลดไขมันในเลือด และในช่วงก่อนเข้านอน หากกินช่วงนี้จะช่วยในการขับถ่ายได้ดีในตอนเช้า (ที่มา : กินลืมป่วย)    
   
สรรพคุณของสำรอง    
เมล็ดมีสรรพคุณช่วยลดการดูดซึมไขมัน (เมล็ด)<1>    
ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผลและเมล็ด)<5>    
ใบ ผลและเมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (ใบ,ผลและเมล็ด)<5>    
ช่วยแก้ตานขโมยในเด็ก (ผลและเมล็ด)<5>    
ช่วยรักษาโรคหอมหืด (วุ้น)<7>    
วุ้นใสที่ได้จากเปลือกหุ้มเมล็ด ใช้พอกตา แก้ตาอักเสบบวมแดง ปอดบวม โดยวุ้นสำรองเป็นยาเย็น ไม่เป็นอันตรายต่อเยื่อบุอ่อนๆ จึงสามารถนำมาใช้รักษาอาการตาอักเสบได้ วิธีการก็คือให้นำผ้าก๊อซชุบน้ำพอชุ่มชื้น แล้วนำไปวางทับบนเปลือกตาที่อักเสบ จากนั้นให้วางแผ่นเปลือกหุ้มเมล็ดสำรองลงบนผ้าก๊อซ แล้วเปลือกจะพองตัวเป็นวุ้นแทรกซึมเข้าไปในผ้าก๊อซ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บตา ตาอักเสบอย่างได้ผล (เปลือกหุ้มเมล็ด)<1>,<11> ผลแก้ตาแดง (ผล)<2> ส่วนเมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคตาแดงอักเสบ (เมล็ด)<1>    
เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)<5>    
ผลแห้งนำมาแช่กับน้ำดื่ม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ผล)<1>    
ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้อาการไอแห้ง คันคอ คอเจ็บไม่มีเสียง ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผลประมาณ 2-3 ผล นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม หรือจะใช้ผลแห้งครั้งละประมาณ 3-10 กรัม (หรือประมาณ 3-5 ผล) นำมาแช่กับน้ำพอสมควรจนพองเป็นวุ้น แล้วใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำตาลกรวดลงไป ใช้รับประทานทั้งเนื้อและน้ำ วันละ 3 ครั้ง (ผล)<1>,<2> หรือจะใช้เปลือกหุ้มเมล็ดที่พองตัว (มีรสจืดเย็น) นำมาปรุงกับน้ำตาลทรายแดงหรือชะเอมเทศ ใช้รับประทานแก้อาการร้อนในกระหายน้ำก็ได้ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ทำให้ใจคอชุ่มชื่น และช่วยขับเสมหะ (เปลือกหุ้มเมล็ด)<1>,<3> ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำได้เช่นกัน (เมล็ด)<1> รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ราก)<5>    
เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคคออักเสบ (เมล็ด)<6>    
ช่วยแก้เจ็บคอแก้ไข้ ด้วยการใช้ลูกสำรองประมาณ 10-20 ลูก นำมาต้มกับชะเอมจีนให้พอหวานจนได้น้ำยาที่เข้มข้น นำมาใช้จิบกินบ่อยๆ จะช่วยแก้ไข้เจ็บคอได้เป็นอย่างดี (ผล)<11>    
ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ผล)<2>    
ช่วยแก้โลหิตกำเดา (ผล)<2>    
ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ผล)<2>    
ผลมีรสจืด ขุ่นเล็กน้อย เป็นยาเย็นออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ใหญ่ ใช้เป็นยาแก้ปอดร้อน ช่วยทำให้ปอดชุ่มชื่น (ผล)<2>    
ช่วยแก้อาการแสบร้อนอวัยวะภายในร่างกายหรือธาตุไฟแทรกซึมอยู่ในกระบังลมทั้งสาม (ผล)<2>    
ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น,ราก,ผลและเมล็ด)<5>    
ช่วยแก้อาการท้องผูก ลดอาการท้องผูก (ผล,เมล็ด)<2>,<6> ผลและเมล็ดมีฤทธิ์เป็นยาระบาย (ผลและเมล็ด)<5>    
ใบ้ใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ใบ)<5>    
ช่วยแก้กามโรค (แก่นต้น)<5>    
ช่วยแก้ริดสีดวงทวารมีเลือด (ผล)<2>    
แก่นต้นมีสรรพคุณช่วยแก้โรคเรื้อน (แก่นต้น)<5>    
ช่วยแก้พยาธิผิวหนัง (ราก)<5>    
ช่วยแก้พิษ (ผล)<2>    
ในประเทศอินเดียมีรายงานการใช้สมุนไพรสำรองเพื่อการรักษาอาการอักเสบ แก้ไข้ และขับเสมหะ ส่วนในประเทศจีนจะใช้สำรองร่วมกับชะเอมนำมาจิบกินบ่อยๆ เพื่อช่วยแก้อาการเจ็บคอ ลดอาหารปวด และบำรุงไต<7>    
   
ขอขอบคุณข้อมูลที่มีประโยชน์แก่ประชาชน ฟรินน์ดอทคอม    
เรียบเรียงข้อมูลโดย ฟรินน์.com

คำสำคัญ: สำรอง