ค้นหาสินค้า

ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง


โดย SiamPsb

      หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับความเข้าใจว่าแบคทีเรียคือสิ่งมีชีวิตที่เป็นโทษต่อสุขภาพ เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาดหลายชนิดที่มักโฆษณาว่ากำจัดแบคทีเรียได้ แต่จริงๆ แล้วแบคทีเรียก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ให้คุณหากเรารู้จักใช้ เช่นการนำแบคทีเรียจำพวกที่สังเคราะห์แสงได้มาใช้กับการเกษตรและการบำบัดสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกตัวอย่างของประยุกต์ใช้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้ให้เกิดประโยชน์    
         
      แบคทีเรียสังเคราะห์แสง (photosynthetic bacteria: PSB) พบกระจายทั่วไปในธรรมชาติ ตามแหล่งน้ำจืด น้ำเค็ม ทะเลสาบ น้ำพุร้อน เป็นต้น ซึ่งสิ่งมีชีวิตนี้มีกระบวนการดำรงชีวิตที่สามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารจากการเป็นอาหารของสัตว์ขนากเล็กอย่างกุ้ง หอย ปู ปลาได้    
         
      รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านแบคทีเรียสังเคราะห์แสงมากว่า 30 ปีอธิบายว่าคนเรารู้จักใช้ประโยชน์แบคทีเรียสังเคราะห์แสงในด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ เช่นในการบำบัดน้ำเสียซึ่งมีสารอินทรีย์ต่างๆ อยู่มาก แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะใช้สารเหล่านั้นในการดำรงชีวิตและทำให้น้ำเสียดีขึ้น    
         
      “ความมหัศจรรย์ของแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ตรงกระบวนการที่อยู่ในเซลล์ เมื่ออยู่ในสภาวะที่มีแสงก็เกิดกระบวนการที่ใช้แสง ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่มีแสงก็เปลี่ยนมาใช้อีกกระบวนการที่ไม่ใช้แสงทำให้มีชีวิตอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็ใช้ประโยชน์จากการกระบวนการดำรงชีวิตตรงนี้ ในแง่ของการเลี้ยง แง่ของการบำบัดน้ำเสีย เอามาใช้ในการบำบัดดินโดยไม่ต้องเอามาพักในบ่อซึ่งเป็นระบบบำบัด”    
         
      รศ.ดร.นภาวรรณเสริมต่อว่านักวิทยาศาสตร์ค้นพบคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ของแบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยตอนแรกรู้จักใช้ในการบำบัดน้ำเสียก่อน ต่อมาก็ใช้ในการผลิตอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง จากนั้นก็มีการค้นพบว่ามีสายพันธุ์ที่ผลิตสารกำจัดวัชพืชได้ ขณะเดียวกันหากรู้จักใช้อย่างถูกวิธีก็สามารถใช้เป็นสารในการเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ และยังพบสายพันธุ์ที่ผลิตเอนไซม์ Q10 ที่ใช้ในวงการแพทย์รวมถึงวงการเครื่องสำอาง ล่าสุดยังพบว่าแบคทีเรียสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ได้อีกด้วย    
         
      พร้อมกันนี้ได้กล่าวถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกซึ่ง รศ.ดร.นภาวรรณได้ผลิตสาร ALA (delta aminolevulinic Acid) จากแบคทีเรีย ซึ่งสารดังกล่าวถูกค้นพบก่อนหน้านี้โดยนักวิจัยชาวสหรัฐว่าทำให้พืชที่สัมผัสสารเกิดรูรั่วเมื่อได้รับแสง ทั้งนี้ทีมวิจัยของ รศ.ดร.นภาวรรณได้ทดลองกับพืชใบกว้างพบว่าตายหมด แต่ถ้าใช้กับพืชใบแคบ เช่น ข้าวหรือข้าวโพดอย่างเหมาะสมจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตได้ โดยได้ทดลองอย่างจริงจังกับข้าวโพด    
         
      ทางด้านนายสุรอรรถ ศุภจัตุรัส ผู้ประสานงานโครงการแบคทีเรียสังเคราะห์แสงเพื่อการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่ามีการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงในไทยประมาณ 30 ปีแล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ EM หรือสารหมักชีวภาพซึ่งไม่สามารถจำแนกได้ว่ามีสายพันธุ์อะไรบ้างหรือมีคุณสมบัติอะไรที่แน่นอน    
         
      ส่วนการใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์แบคทีเรียที่ทราบแน่ชัดนั้นที่ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้กับการเกษตร ซึ่งพิสูจน์แน่ชัดว่าใช้ได้ผลจริง โดยใช้เพิ่มผลผลิตข้าวที่เพิ่มถึง 3 เท่า และทำให้เมล็ดข้าวใหญ่ขึ้น 2 เท่า ทั้งนี้เพราะแบคทีเรียช่วยปรับสภาพดินให้เหมาะกับการดูดซึมสารอาหารของรากข้าวโดยย่อยสลายสารเคมีบางตัวที่ต่อต้านการเจริญเติบโตของรากข้าว ซึ่งใช้แบคทีเรียในรูปส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์    
         
      แบคทีเรียสังเคราะห์แสงยังใช้เป็นอาหารเสริมให้กับสัตว์เนื่องจากแบคทีเรียมีโปรตีนที่จำเป็นต่อสัตว์ อีกทั้งแบคทีเรียบางสายพันธุ์ยังผลิตสารแคโรทีนอยด์ (carotenoid) ซึ่งมีสีแดงออกส้มเมื่อผสมอาหารให้ไก่กินจะช่วยเพิ่มสีให้ไข่แดงของไก่ นายสุรอรรถอธิบายว่าสารดังกล่าวได้จากธรรมชาติจึงมีความปลอดภัยกว่าสารสังเคราะห์    
         
      นายสุรอรรถกล่าวว่าสำนักงานนวัตกรรมฯ เห็นความสำคัญในการพัฒนาแบคทีเรียสังเคราะห์แสงจึงได้ตั้งโครงการที่มีเป้าหมายในการใช้แบคทีเรียสังเคราะห์แสงกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สำหรับการเกษตรจะเริ่มที่การผลิตปุ๋ยผสมแบคทีเรียเพื่อช่วยเพิ่มผลิตก่อน ส่วนทางด้านสิ่งแวดล้อมจะใช้ในการบำบัดน้ำเสียจากแหล่งต่างๆ อาทิ โรงอาหารและบ่อกุ้ง เป็นต้น    
   
   
   
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 มกราคม 2549 22:43 น.    
   
   

คำสำคัญ: