ค้นหาสินค้า

ลักษณะพฤกษศาสตร์ของกระดังงาไทย

ชื่อวิทยาศาสตร์:  Cananga odorata Hook.f.&Thomson var.odorata
ชื่อวงศ์:  Annonaceae
ชื่อสามัญ:  Ylang-ylang tree, Perfume Tree, llang-llang,
ชื่อพื้นเมือง:  กระดังงาใบใหญ่ กระดังงา กระดังงาใหญ่ สะบันงา สะบันงาต้น
ลักษณะทั่วไป:
        ต้น  ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-20 เมตร  ต้น เปลา ตรง ผลัดใบ เรือนยอดรูปสามเหลี่ยม กิ่งแตก ตั้งฉากกับลำต้น แต่ปลายกิ่งลู่ลง  เปลือกสีเทาเกลี้ยง มีรอยแผลใบขนาดใหญ่ทั่วไป
        ใบ  เดี่ยว เรียงสลับ ทรงรี  โคนใบมนหรือเว้าและเบี้ยวเล็กน้อย ปลายใบแหลม แผ่นใบบาง  ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบแก่มีขนตามเส้นแขนงใบและเส้นกลาง ใบ   เส้นแขนงใบข้างละ 5-9 เส้น
            ดอก  สีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว  ออกรวมกันเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มบนกิ่งเหนือรอยแผลใบ ออกดอกเป็นช่อสั้น ห้อยลง 3-6 ดอก กลีบเลี้ยง 3 กลีบ มีขน กลีบดอกเรียงเป็น 2 ชั้นๆละ 3 กลีบ กลีบเป็นแถบบาง ขอบเป็นคลื่นเล็กน้อย กลีบชั้นในแคบกว่าชั้นนอกเล็กน้อย โคนกลีบด้านในสีม่วงอมน้ำตาล ดอกอ่อนกลีบสีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียมีหลายอัน อยู่แยกกัน
        ฝัก/ผล  กลุ่ม รูปไข่ผิวของมันเรียบ อยู่บนแกนตุ้มกลม 4-15 ผล ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำ
        เมล็ด  สีน้ำตาลอ่อน รูปไข่แบน
ฤดูกาลออกดอก:  มีดอกและผลเกือบตลอดปี
การขยายพันธุ์:  เพาะเมล็ด  ตอนกิ่ง
ส่วนที่มีกลิ่นหอม:  ดอก
การใช้ประโยชน์:  
    -    เอามาทำเป็นเครื่องหอม ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง น้ำอบ ทำน้ำหอม
    -    ใช้ทำน้ำเชื่อมหรือปรุงขนมหวาน ต่าง ๆ เช่น ทับทิมกรอบ ข้าวต้มน้ำวุ้น สลิ่ม เป็นต้น
    -    ไม้ประดับ
    -    เป็นสมุนไพร
    -    น้ำมันหอมระเหย ใช้ทอดกับน้ำมะพร้าวทำน้ำมันใส่ผม  น้ำมันหอมระเหยจากดอกที่แก่จัด เรียกว่า Ylang - Ylang oil
ถิ่นกำเนิด:  พม่า   มาเลเซีย   ออสเตรเลีย   อินโดนีเซีย    ฟิลิปปินส์    ศรีลังกา
แหล่งที่พบ:  ทั่วประเทศ
ส่วนที่ใช้บริโภค:  ดอก
การปรุงอาหาร:  การแต่งกลิ่นอาหาร ทำได้โดยนำดอกที่แก่จัด ลมควันเทียนหรือเปลวไฟจากเทียนเพื่อให้ต่อมน้ำหอมในกลีบดอกแตก และส่งกลิ่นหอมออกมา แล้วนำไปเสียบไม้ ลอยน้ำในภาชนะปิดสนิท 1 คืน เก็บดอกทิ้งตอนเช้า นำน้ำไปคั้นกะทิ หรือปรุงอาหารอื่นๆ
สรรพคุณทางยา:
    -    เนื้อไม้ รักษาโรคปัสสาวะพิการ
    -    ใบ รักษาโรคผิวหนัง แก้คัน
    -    ดอก มีน้ำมันหอม ใช้เข้าเครื่องหอมทุกชนิด แก้ลมวิงเวียน แก้ไข้  บำรุงธาตุ บำรุงหัวใจ


คำสำคัญ: